Data Driven คืออะไร ? ปรับใช้อย่างไรให้เหมาะสมกับองค์กร

Data Driven คืออะไร ? ปรับใช้อย่างไรให้เหมาะสมกับองค์กร
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ

การทำธุรกิจในปัจจุบันที่โลกดิจิทัลมีการเติบโต และเกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรต่างก็ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพื่อให้แบรนด์เข้าใจผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมาย นำมาสู่การออกแบบการตลาดที่เหมาะสม ตลอดจนเอาชนะคู่แข่งได้ ในวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ Data Driven อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการทำการตลาดปัจจุบัน

รู้จักกับกลยุทธ์ Data Driven

Data Driven เป็นการทำการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ทั้งการบริหารองค์กร การวางกลยุทธ์ และการทำการตลาด เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการวางกลยุทธ์การตลาดอื่น ๆ ในอนาคตนั่นเอง

นอกจากนั้น Data Driven ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโลกของการทำการตลาด หรือการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้ในการบริหารองค์กร การวางกลยุทธ์ การกำหนดนโยบาย หรือการจัดการทรัพยากรได้ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินงานภายในองค์กร และเพื่อสร้าง Return on investment (ROI) ให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

3 ประโยชน์สำคัญของ Data Driven

Data Driven ช่วยให้เราสามารถสร้างข้อได้เปรียบในการทำการตลาดกับคู่แข่ง และสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างแม่นยำ แถมยังมีประโยชน์หลากหลายด้านต่อธุรกิจ องค์กร รวมถึงระบบการทำงานของพนักงานเองด้วย

ลดเวลาในการตัดสินใจ

Data Driven จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพิ่มเติม หรือหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอคำตอบที่ต้องการ แต่จะเป็นการแสดงผลของข้อมูลเองที่จะบอกว่าควรตัดสินใจอย่างไร รวมไปถึงการซื้อขายสินค้า และบริการของเราด้วยเช่นกัน

ถ้าเราใช้ Data Driven ในการศึกษาพฤติกรรมลูกค้า เราจะรู้ได้ทันทีว่าสินค้าประเภทไหนที่ขายดี ลูกค้ากลุ่มไหนที่มักซื้อสินค้าของเรามากที่สุด โฆษณาออนไลน์แบบไหนที่คนสนใจมากที่สุด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เราวางแผนได้แม่นยำขึ้น ขายของได้ตรงกลุ่มขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาไปคาดเดา ทำให้ลดเวลาในการตัดสินใจซื้อสินค้า และบริการของลูกค้าได้นั่นเอง

ใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า

การทำการตลาดในปัจจุบันมีการใช้ต้นทุนจำนวนมากขึ้น หลาย ๆ ธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องควบคุมงบประมาณทางการตลาด Data Driven จึงสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เช่น มองหาโฆษณาที่ มีประสิทธิภาพที่สุด ด้วยการทำ Test กลุ่มโฆษณา ซึ่งมีตัวแปรคือคอนเทนต์ และภาพที่ใช้แตกต่างกัน ใช้การวัดผลจากตัวเลข และสามารถสร้างยอดขายได้

ซึ่งการทำคอนเทนต์ในครั้งต่อไปเราก็จะรู้ว่าควรใช้คอนเทนต์ลักษณะแบบไหนในการทำโฆษณา จากที่เราใช้เงินกับโฆษณา 10 ตัว ก็อาจใช้กับโฆษณา 2 ตัวที่สร้างยอดขายได้นั่นเอง

ช่วยวางแผนกลยุทธ์ที่แม่นยำ

การทำ Data Driven นั้นโดยทั่วไปจำเป็นจะต้องเก็บข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่เป็นระบบระเบียบสำหรับการนำไปใช้งานต่อในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น Data Analysis หรือ Data Visualization ซึ่งเมื่อรูปแบบของข้อมูลถูกเก็บอยู่ในลักษณะเหล่านี้แล้ว ทำให้เราสามารถนำไปใช้ในงานของการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ไม่ยาก

โดยส่วนใหญ่แล้วการทำ Data Driven มักจะใช้ระบบ CRM ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการขาย ที่จะช่วยจัดเก็บ เรียบเรียง พร้อมวิเคราะห์ให้เรา โดยที่เราสามารถมองข้อมูลภาพรวมผ่านเครื่องมือ และนำมาวางกลยุทธ์ต่อไปได้เลย

ปรับใช้ Data Driven ให้เหมาะสมกับองค์กร

ปรับใช้ Data Driven ให้เหมาะสมกับองค์กร

ในปัจจุบันมีเคสการทำ Data Driven อยู่มากมาย ซึ่งการใช้ข้อมูลในการทำการตลาดก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนอะไร แต่การนำมาปรับใช้กับองค์กรถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแต่ละองค์กรต่างก็มีความแตกต่างกันนั่นเอง

วางกลยุทธ์การใช้ที่ชัดเจน

การสร้าง Data Driven จำเป็นที่จะต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจปัญหาขององค์กรว่าตอนนี้ปัญหาที่เจอคืออะไร โดยต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในอดีต และปัจจุบันบริษัทประสบปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นค่อยเลือกปัญหาที่จะต้องการแก้ไข

นอกจากนั้นองค์กรควรจะตั้งเป้าหมายในการนำข้อมูลมาใช้อย่างไร โดยทำการวิเคราะห์ความสามารถของข้อมูล และตอบให้ได้ว่าข้อมูลนี้จะนำไปใช้ทำอะไร เพื่ออะไร เพราะอะไร และจะนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างไร ซึ่งในส่วนนี้องค์กรควรตอบคำถามให้ได้ว่าจะนำข้อมูลไปใช้ด้วยวิธีไหน จึงได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามความต้องการนั่นเอง

เตรียมความพร้อมให้พนักงาน

สำหรับการทำ Data Driven จะต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์กร เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น ด้วยการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากการปูพื้นฐานความเข้าใจให้กับพนักงานในองค์กรเกี่ยวกับการใช้ Data Driven อย่างถูกต้อง

นอกจากนั้นองค์กรจะต้องทำให้เห็นถึงประโยชน์ของ Data Driven โดยอาจจะบอกได้ว่าข้อมูลเหล่านี้เข้ามาช่วยเหลือพนักงานอย่างไร เช่น ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น ช่วยลดภาระงานที่ทับซ้อน เป็นต้น ซึ่งพนักงานควรจัดการข้อมูลเสมือนเป็น Product อีกชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่มองเป็นเพียงส่วนเสริมเล็ก ๆ ดังนั้นควรมีการจัดการพื้นฐานโครงสร้างข้อมูลให้ดี

ลงทุนในเครื่องมือที่เหมาะสม

การทำ Data Driven ในองค์กร เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด องค์กรควรจะมีเครื่องมือในการเก็บข้อมูลที่ดี เช่น POS, การทำ Research, Social Listening และอื่น ๆ อีกมากมาย หรือจะเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล เช่น CRM, CDP, Database ต่าง ๆ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ก็จะแตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจ

แน่นอนว่าการนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับแต่อย่างใด แต่ต้องหาจุดที่เหมาะสมที่สุดให้กับธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีต้นทุนในการใช้งาน และจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการทำการบ้านในการใช้ และทดลองเครื่องมือให้เหมาะกับข้อมูลของเราเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ในการทำ Data Driven

ข้อมูลเป็นขององค์กร

หลายครั้งที่ทีมที่เป็นผู้จัดเก็บดูแลข้อมูลจะให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า จึงทำให้การเข้าถึงข้อมูลสำหรับทีมอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยอาจจะลืมไปว่าจุดประสงค์หลังของข้อมูลที่เก็บมาจริง ๆ แล้วเราเก็บเพื่อองค์กร ให้ทีมอื่นนำไปใช้งาน

การทำ Data Driven จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมที่ดูแลข้อมูล ช่วยอำนวยความสะดวกให้การทำงานปลอดภัย และรวดเร็วยิ่งขึ้น นำข้อมูลมาแบ่งปันกัน รวมถึงพัฒนาหาวิธีให้เกิดการดูข้อมูลได้เองแบบ Self Service เช่น สร้าง Dashboard ที่รวมข้อมูลจำเป็นที่ทีมอื่น ๆ จำเป็นต้องใช้อยู่บ่อย ๆ

สร้าง Data Driven Workflow

เพื่อให้องค์กรสามารถทำ Data Driven ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นที่จะต้องสร้าง Data Driven Workflow ให้ชัดเจน เพราะจะทำให้เกิดการตัดสินใจด้วย Data ในทุก ๆ ขั้นของการทำงานได้อย่างดีที่สุด

ซึ่งแน่นอนว่า Data Workflow นั้นก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะองค์กร เช่น บางองค์กรอาจจะต้องมีการเก็บ และทำงานผ่านระบบ CRM เดียวกันที่ถังกลาง แต่บางองค์กรอาจจะใช้การทำงานแยกกันตามระบบ CRM ของแต่ละฝ่ายแต่รายงานผลกลับไปที่ Dashboard เดียวกันแทนนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่าการปรับใช้ Data Driven ให้เหมาะสมกับองค์กรนั้น ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ละองค์กรควรเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

ยกตัวธุรกิจที่นำ Data Driven มาปรับใช้องค์กร

ยกตัวธุรกิจที่นำ Data Driven มาปรับใช้

ในปัจจุบันองค์กร หรือธุรกิจระดับโลกต่างก็นำ Data Driven มาปรับใช้ ทำให้เห็นว่า Data Driven ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก

Netflix

Netflix ผู้ให้บริการสตรีมมิงภาพยนตร์ระดับโลก มีการนำ Data Driven มาใช้ นั่นก็คือ ระบบแนะนำภาพยนตร์แบบเฉพาะบุคคล (Personalized Recommendation System) ซึ่งเว็บไซต์ของ Netflix ได้มีตัวเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของ User โดยจะคัดเลือกหนังในแนวเดียวกับที่เราชอบดู กดถูกใจ หรือเคยค้นหาเอาไว้ขึ้นมาแสดงให้ User เห็นก่อนเป็นอันดับแรก ๆ

McDonald’s

McDonald’s ได้มีการนำ Data Driven มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ของ Data Science โดยได้เริ่มนำเทคโนโลยีช่วยตัดสินใจ Dynamic Yield มาใช้ เพื่อพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า โดยมีจักรกลเรียนรู้ หรือ Machine Learning เข้ามาช่วยแนะนำเมนูผ่านหน้าจอเมนูดิจิทัลโดยการอาศัยข้อมูลเชิงบริบท เช่น ช่วงเวลาในแต่ละวัน ตัวเลือกเมนูในปัจจุบัน หรือความหนาแน่นของร้าน

กลยุทธ์ Data Driven ช่วยให้แบรนด์เข้าใจลูกค้ามากขึ้น และช่วยให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจต่อแบรนด์มากขึ้นด้วยเช่นกัน

สรุป

ในปัจจุบัน Data Driven ไม่ใช่เพียงแค่กลยุทธ์การตลาดที่ธุรกิจ หรือแบรนด์จะเลือกใช้ แต่เป็นเรื่องของความจำเป็น และเป็นรากฐานให้นำไปประยุกต์ทำการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นองค์กรจึงต้องเริ่มปรับตัวให้กลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพื่อการเติบโตทางธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาองค์กร และระบบบริหารภายใน หรือเพื่อต่อยอดธุรกิจนั่นเอง