การทำงานกับ Data สามารถเปลี่ยนแคมเปญการตลาดของคุณให้มีประสิทธิภาพและพัฒนาต่อยอดไปถึงการสร้างยอดขายให้กับธุรกิจได้ บริษัทยักษ์ใหญ่หลายต่อหลายเจ้า มีการทำงานกับข้อมูลที่มากกว่าการเก็บข้อมูลทั่วไป แต่เป็นการลงไปยังข้อมูลเชิงลึก ที่เข้าถึงตัวลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมากกว่าที่เคย ที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ก็จะเป็นธุรกิจจำพวกการเงิน ธนาคารต่าง ๆ แต่จะสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด ที่ทำงานร่วมกับ Data อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
การสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดด้วย Data ให้ประสบความสำเร็จนั้นทำได้อย่างไร ?
เมื่อธุรกิจมี Data อยู่ในมือแล้ว สิ่งที่ควรจะทำในขั้นตอนต่อไปคือการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดด้วย Data ที่มี ซึ่งการจะสร้างกลยุทธ์ขึ้นมานั้น ต้องลองศึกษาดูก่อนว่า กลยุทธ์ใดที่เหมาะสมกับธุรกิจและทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ มาลองดูกันดีกว่า ว่ากลยุทธ์ใดบ้าง ที่เหมาะสมและสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจคุณให้ประสบความสำเร็จได้
ทำการตลาดแบบ Personalization Marketing
การตลาดแบบ Personalization Marketing เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่กำลังได้รับความนิยมสำหรับการนำมาทำงานร่วมกับ Data เพราะเป็นการทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล เจาะลึกไปถึงผู้บริโภค ว่าต้องการอะไร จดจำสิ่งที่ผู้บริโภคชอบ รวมถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบรายบุคคล ซึ่งทำให้ธุรกิจสามารถทำการตลาดแบบเจาะกลุ่มเข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบัน ธุรกิจใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำ Personalization Marketing ธุรกิจจะเข้าใจลูกค้า มอบประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าได้ ดึงดูดและสามารถสื่อสารกับลูกค้าในช่องทางต่าง ๆ ได้เฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ ธุรกิจยังสามารถทำ Hyper-Personalization Marketing ควบคู่กันไปด้วยได้ เพราะการทำ Hyper-Personalization จะเป็นการนำ Big Data มาวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อ และคาดการณ์ล่วงหน้าว่าลูกค้าจะซื้อสินค้าไหนต่อไปในอนาคตได้ ข้อมูลที่นำมาใช้ ก็จะเป็นข้อมูลที่ลึกกว่า และเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้นกว่าเดิม
เชื่อมต่อลูกค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์
Data มีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ ธุรกิจสามารถนำกลยุทธ์ Omni-Channel ที่เป็นการทำการตลาดแบบเชื่อมต่อออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน มาใช้เพื่อสร้างประโยชน์ต่าง ๆ ให้ธุรกิจได้ ยกตัวอย่างเช่น
- กำหนดช่องทางในการเก็บ Data และส่งคอนเทนต์ไปยังลูกค้าได้ถูกทาง : อย่างที่รู้ว่ากลยุทธ์ Omni-Channel เชื่อมต่อลูกค้าได้ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ดังนั้น ธุรกิจจะรู้ได้เลยว่า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของตัวเองอยู่ในช่องทางไหนมากกว่ากัน และเลือกที่จะเสิร์ฟคอนเทนต์ดี ๆ หรือโปรโมชั่นไปหาลูกค้าได้ถูกที่ ถูกเวลามากกว่าการเสิร์ฟแบบโดยหว่าน ๆ ไป
- ปรับปรุง Data ที่ได้มาอย่างสม่ำเสมอ : การทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ธุรกิจเห็นความเคลื่อนไหวของลูกค้าในทุกช่องทาง Data ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวันตามช่องทางต่าง ๆ ลูกค้าทางออนไลน์วันนี้ชอบแบบนี้ ลูกค้าทางออฟไลน์ชอบอีกอย่างนึง ธุรกิจมีปรับปรุง Data ในทุก ๆ เพื่อให้รับมือการเปลี่ยนไปของลูกค้าในแต่ละวันได้อย่างสม่ำเสมอ
นำเครื่องมือ MarTech เข้ามาช่วยวิเคราะห์ลูกค้า
อย่างในบทความ เริ่มต้นทำ Data Driven Marketing ใช้เครื่องมืออะไรได้บ้าง ที่เขียนไปก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่ามีเครื่องมือที่ธุรกิจสามารถนำมาใช้เพื่อทำให้ Data Driven Marketing ของตัวเองประสบความสำเร็จได้หลายต่อหลายตัว เครื่องมือ MarTech ในปัจจุบัน ถูกพัฒนามาเพื่อให้รองรับการทำงานการตลาดในหลายด้าน รวมถึงการทำการตลาดร่วมกับ Data เครื่องมือเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์แคมเปญการตลาด, วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ และวัดผลการทำงานในแต่ละเดือน เพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อธุรกิจนั่นเอง
เครื่องมือ MarTech บางตัว ช่วยให้คุณได้ Data ใหม่ ที่เป็นทั้ง Second Party Data และ Third Party Data เป็น Data ที่คุณไม่เคยมีมาก่อน และช่วยวิเคราะห์ Data เหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพที่สุด และส่งต่อไปยังทีมการตลาดเพื่อสร้างแคมเปญการตลาดต่อไปในอนาคต ไม่เพียงเท่านั้น เครื่องมือ MarTech ยังทำ Report ของแต่ละเดือนออกมาเพื่อให้คุณปรับปรุงและพัฒนาแผนการตลาดต่อไปได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ที่สร้างกลยุทธ์ทางการตลาดด้วย Data ประมาณ 80% ใช้เครื่องมือ MarTech ในการเก็บ Data และวิเคราะห์ Data กันทั้งนั้น ถ้าคุณอยากให้การทำการตลาดด้วย Data ของคุณประสบความสำเร็จ ก็ควรเริ่มใช้เครื่องมือเหล่านี้
จริง ๆ มีอีกหลายกลยุทธ์ทางการตลาดที่ทำงานด้วย Data แต่ก่อนจะเลือกใช้กลยุทธ์ไหน ควรดูตามความเหมาะสมของแผนและแคมเปญทางการตลาดที่คุณจะนำไปใช้ด้วย จะได้ใช้เครื่องมือที่ถูก วิธีที่ใช่ และส่งผลดีต่อธุรกิจของคุณ มีหลายธุรกิจที่นำ Data Driven Marketing เข้ามาใช้ทำการตลาดและประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งตัวอย่างธุรกิจที่นำ Data Driven Marketing มาใช้งาน มีดังนี้
5 ตัวอย่างธุรกิจที่นำ Data Driven Marketing มาใช้และประสบความสำเร็จ
Netflix
Netflix เป็นธุรกิจที่ให้บริการ Streming ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเขามีการนำ Data ของผู้ใช้บริการ พฤติกรรมการใช้บริการ มาปรับและพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองให้รองรับการใช้งานและความสนใจของผู้ใช้ เราจะเห็นว่า เวลาที่เราเปิด Netflix ขึ้นมา มักจะมีภาพยนตร์ ซีรีส์ ที่แนะนำ ซึ่งเรื่องที่ Netflix แนะนำ จะเป็นแนวคล้าย ๆ กับที่เราดูบ่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงนี้คุณดูซีรีส์เกาหลีบ่อย ๆ หน้าแรกของคุณ ก็จะมีแต่ซีรีส์เกาหลีให้เราเลือกดูเต็มไปหมด ซึ่ง Netflix เก็บข้อมูลจากพฤติกรรมที่คุณใช้งานบนแพลตฟอร์มมาวิเคราะห์และนำเสนอสิ่งที่คุณสนใจในช่วงนั้นออกมา
พฤติกรรมที่ Netflix รวบรวมมาเป็น Big Data นั่นคือ
- การให้คะแนน (Rating) ภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องนั้น
- การค้นหาภาพยนตร์
- อุปกรณ์ที่ใช้ดู Netflix
- วันที่เปิดดู
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการทำการตลาดกับ Big Data ของ Netflix ทำให้มียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นและสามารถสร้างฐานลูกค้าเก่าให้ยังอยู่ได้มากถึง 90% และยังมีจำนวนผู้ชม Netflix สูงถึง 1 หมื่นล้านชั่วโมง ในไตรมาสแรกของปี 2015 อีกด้วย
Starbucks
ธุรกิจร้านกาแฟที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก สามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายด้วยการใช้ Data จากลูกค้าและแหล่งข้อมูลจาก Third Party ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว Starbucks ยอดขายตกลงมากจากการที่มีสาขาเยอะมากเกินไป ทำให้ผู้บริหารจำเป็นต้องหาลู่ทางในการทำรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีการประกาศปิดสาขาพร้อมกัน และไล่ปิดสาขาที่ไม่ได้ทำรายได้ให้ตัวเอง และทำการเลือกตั้งร้านสาขาใหม่ ๆ
โดยก่อนที่ Starbucks จะเปิดสาขาใหม่ ไม่ใช่แค่มองว่าเป็นทำเลทอง ที่ดินถูก แล้วจึงเปิดร้าน แต่ตัวธุรกิจมีการนำ Data หลาย ๆ ด้านมาวิเคราะห์ อย่างจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลการจราจร ของตำแหน่งที่ตั้งที่จะไปทำการเปิดร้านมาวิเคราะห์หาแนวโน้มก่อนว่า ถ้าไปเปิดร้านในพื้นที่นี้ จะสามารถทำรายได้ให้กับธุรกิจได้มากหรือน้อยเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ตัวธุรกิจเองขาดทุนและลดความเสี่ยงในการลงทุนที่อาจจะมาเกินไปในแต่ละสาขาได้เช่นกัน
ไม่เพียงแต่การนำ Data มาใช้เพื่อเลือกที่ตั้งในการตั้งสาขาใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังนำ Data มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อสร้างโปรโมชั่นในแต่ละเดือนให้กับลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าของตัวเอง และ Starbucks ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่มากกว่าร้านกาแฟ แต่เป็นธุรกิจที่เป็นหนึ่งในด้านของ Data ของโลกไปแล้วเรียบร้อย
Spotify
อีกหนึ่งธุรกิจ Streaming ที่ครองใจผู้ใช้งานมายาวนานเช่นกัน Spotify ใช้ AI เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลการฟังเพลงของผู้ใช้งาน ผ่านการใช้ Machine Learning รวบรวมเพลย์ลิสต์ที่มีลักษณะความชอบคล้ายคลึงกับที่ผู้ใช้งานเลือกฟัง นำเสนอเพลย์ลิสต์ที่คาดว่าผู้ใช้งานจะสนใจ
ซึ่ง Data ที่ Spotify เก็บส่วนใหญ่ก็มาจากพฤติกรรมการฟังของผู้ใช้งานล้วน ๆ เลย ทำให้คอนเทนต์ที่ส่งไปยังผู้ใช้งานสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น ใน 1-2 ปีที่ผ่านมา Spotify ได้เริ่มนำ Data มาสร้างแคมเปญที่ให้ผู้ใช้งานสามารถดูได้ว่า ตลอดปีที่ผ่านมา ฟังเพลงไหนไปมากที่สุด กี่ครั้ง เป็น Top Song ประจำปี เพลย์ลิสต์ประจำปี เฉพาะบุคคล แถมข้อมูลตรงนี้ที่ผู้ใช้งานได้เห็นยังสามารถแชร์ไปยังช่องทาง Social Media ต่าง ๆ โดยเฉพาะ Instagram Stories นับได้ว่าเป็นการทำ Data Driven แบบที่มีประสิทธิภาพและได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานเป็นอย่างมากทีเดียว
Photo Ref : Spotify Thailand
Amazon
บริษัท E-commerce เจ้าใหญ่ระดับโลก ที่มีการทำงานร่วมกับ Data มาอย่างยาวนาน Amazon มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด โดยการเพิ่มสินค้าเข้าไปในแพลตฟอร์มของตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อสินค้ามากเกินไป ก็ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถหาสินค้าที่ตัวเองต้องการเจอได้ Amazon จึงพัฒนาระบบต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อตอบสนองการซื้อ-ขายของผู้ใช้ ยกตัวอย่าง Recommendation Engine ที่เป็นระบบแนะนำสินค้าให้กับผู้ใช้งานตามสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นสนใจ
หรือแม้แต่ Customer 360 degree view ที่ Amazon นำมาใช้วิเคราะห์ Data ของลูกค้าในเชิงลึกได้มากขึ้น นำเสนอสินค้าที่ลูกค้าต้องการได้ ลูกค้าที่ผ่านมาใช้งาน Amazon ต่างได้รับความพึงพอใจและกลับมาใช้บริการเสมอ ทำให้ Amazon ก้าวมาเป็นเจ้าตลาดโลก E-Commerce ได้ในปัจจุบัน
Photo Ref : Amazon
McDonald’s
นับได้ว่า Mc Donald’s เป็นบริษัทที่มีการลงทุนกับการทำการตลาดด้วย Data เป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่า เวลาที่เราไปใช้บริการ จะมีหน้าจอ Digital เพื่อแสดงเมนูอาหารทั้งหมดของร้านอยู่ ซึ่งเป็นการลงทุนใช้ Big Data นำเสนอเมนูที่น่าสนใจให้แก่ผู้ใช้บริการ สร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้บริการได้มากขึ้น
นอกจากนี้ Mc Donald’s มีการนำ Realtime Data อย่าง สภาพอากาศ, การจราจรในแต่ละวัน และช่วงเวลาของวันนั้น ๆ มาทำ Personalization Marketing เพื่อนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจให้กับผู้ใช้บริการอีกด้วย ยิ่งเป็นธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าขาย Fast Food แล้วละก็ อาจมีการทำเมนูในช่วงเวลาที่เร่งรีบก่อนเข้าทำงานด้วยเมนูที่ทำง่าย ทานง่าย ไม่ต้องรอเวลานาน ๆ หรือการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ที่ทำให้ผู้ใช้บริการสะดวกในการซื้อ และตัวธุรกิจเองก็ได้ Data ของผู้ใช้บริการนั้นเข้ามาในระบบของตัวเองด้วย
Video Ref : McDonald’s Thailand
สรุป
เห็นไหมว่า หลายธุรกิจยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน ต่างนำ Data เข้ามาใช้และทำ Data Driven Marketing กันทั้งนั้น เพราะ Data เป็นพลังสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงลูกค้า เข้าใจลูกค้า และ Data นี่แหละ ที่ทำให้ธุรกิจสามารถเหนี่ยวรั้งลูกค้าให้อยู่กับธุรกิจได้นาน ๆ เหมือนกับบริษัทใหญ่ ๆ ที่กล่าวไปด้านต้น และสุดท้าย ถ้าอยากทำการตลาดด้าน Data ไม่ควรหยุดอยู่กับที่ ยิ่งในยุคดิจิทัลแบบนี้ Data มีเปลี่ยนไปได้ทุกวัน ดังนั้น ต้องมีการพัฒนาและหา Data ใหม่ ๆ เข้ามาเสมอ แล้วจะทำให้ธุรกิจของคุณอยู่รอด เติบโต และวิ่งตาม Data ได้ทันเสมอ